ชนิดของเครื่องมือจัดฟัน
การจัดฟัน คือการเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม โดยใช้แรง ตามหลักการพื้นฐานของฟิสิกส์ ซึ่งทันตแพทย์เป็นผู้ออกแบบวิธีใช้แรงดังกล่าว ผ่านเครื่องมือจัดฟันแบบต่างๆ ดังนั้นเครื่องมือจัดฟัน จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ของการจัดฟัน
เครื่องมือจัดฟัน (Braces) แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
- เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น
- เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้
1. เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น
เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น คือเครื่องมือจัดฟันที่ติดบนผิวฟัน มีลวด ยาง เป็นส่วนประกอบ เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ที่ใช้ในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้
- เครื่องมือโลหะ
- เครื่องมือแบบไม่มัดยาง
- เครื่องมือสีเหมือนฟัน
- เครื่องมือจัดฟันด้านใน
1.1 เครื่องมือโลหะ
เครื่องมือโลหะ (Metal Braces) คือเครื่องมือจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด พบเห็นได้มากที่สุด เครื่องมือทำจากโลหะ ติดบนผิวฟันด้านนอก และมัดเข้ากับลวดด้วยยางสีสันต่างๆ ยางเหล่านี้จะเสื่อมสภาพตามเวลา ทำให้สูญเสียแรง จึงต้องนัดปรับเครื่องมือทุก 4-6 สัปดาห์

ข้อดี
- ประสิทธิภาพสูง
- ใช้สนุกด้วยยางสีสันต่างๆ
- มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้
- ราคาไม่แพง
ข้อด้อย
- มองเห็นเครื่องมือชัดเจน
- แปรงฟันยาก
- ต้องระวังเวลากินอาหาร
- เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง
1.2 เครื่องมือแบบไม่มัดยาง
เครื่องมือแบบไม่มัดยาง (Self-ligating Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ สิ่งที่แตกต่างคือ เครื่องมือแบบไม่มัดยาง จะใช้บานพับขนาดเล็กยึดตัวเองเข้ากับลวด แทนการใช้ยางสี ดังนั้นจึงไม่ต้องเปลี่ยนยาง เครื่องมือมีทั้งแบบเหล็กและที่เป็นวัสดุใส

ข้อดี
- ประสิทธิภาพสูง
- ไม่สะดุดตามากนัก หากใช้แบบใส
- ใช้เวลาปรับเครื่องมือน้อย เพราะไม่ต้องเปลี่ยนยาง
- เพราะไม่มียางให้เสื่อมสภาพ จึงยืดการนัดปรับเครื่องมือให้นานขึ้นได้ ถ้าจำเป็น
- มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้
ข้อด้อย
- มองเห็นเครื่องมือชัดเจน หากใช้แบบโลหะ
- แปรงฟันยาก
- ต้องระวังเวลากินอาหาร
- เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง
- ราคาแพง
ข้อถกเถียง
- ยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่า เครื่องมือแบบไม่มัดยาง ใช้แล้วจัดฟันเสร็จเร็วกว่า เจ็บน้อยกว่าเครื่องมือจัดฟันแบบอื่นจริงหรือไม่
1.3 เครื่องมือสีเหมือนฟัน
เครื่องมือสีเหมือนฟัน (Tooth-colored Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ ต่างกันที่ตัวเครื่องมือ จะทำจากวัสดุใสหรือเซรามิก และใช้ยางใสมัดเครื่องมือเข้ากับลวด เครื่องมือสีเหมือนฟันให้ความรู้สึกหรูหรา สวยงาม แต่ก็ไม่สะดุดตามาก เหมือนเครื่องมือโลหะ

ข้อดี
- ประสิทธิภาพสูง
- มีความหรูหรา สวยงาม
- ไม่สะดุดตามากนัก
- มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้
ข้อด้อย
- แปรงฟันยาก
- อาจไม่ทนทานเท่าเครื่องมือโลหะ
- อาจเปลี่ยนสีตามอาหาร เช่น ชา กาแฟ
- ต้องระวังเวลากินอาหาร
- เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง
- ราคาแพง
1.4 เครื่องมือจัดฟันด้านใน
เครื่องมือจัดฟันด้านใน (Lingual Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ ความแตกต่างคือ เครื่องมือจะถูกติดบนผิวฟันด้านใน ดังนั้นจึงมองไม่เห็นจากภายนอก แต่เนื่องจากเครื่องมือจัดฟันชนิดนี้ มีความยุ่งยากในการใช้งาน ทั้งกับทันตแพทย์และกับผู้ป่วย อีกทั้งยังมีราคาแพง เครื่องมือจัดฟันด้านในจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

2. เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้
เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ แตกต่างจากเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ทั้งในส่วนของรูปร่างหน้าตาและวิธีการทำงาน ด้วยความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้เครื่องมือประเภทนี้มีราคาถูกลง
เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ
- เครื่องมือจัดฟันแบบใส
- เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ มักใช้กับเด็ก
2.1 เครื่องมือจัดฟันแบบใส
เครื่องมือจัดฟันแบบใส (Clear Aligners) ทำจากวัสดุใส รูปร่างคล้ายฟัน ถอดเข้าออกได้ เมื่อใส่แล้วจึงสังเกตไม่ค่อยเห็น เครื่องมือจัดฟันแบบใส สร้างจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ผลิตขึ้นเป็นของแต่ละคนโดยเฉพาะ มีหลายชิ้นตลอดการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เครื่องมือจัดฟันแบบใส วันละไม่ต่ำกว่าวันละ 20-22 ชั่วโมง เปลี่ยนชิ้นใหม่ประมาณทุก 2 สัปดาห์

ข้อดี
- สังเกตไม่ค่อยเห็น
- ถอดเข้าออกได้ จึงแปรงฟันง่าย
- ถอดเข้าออกได้ จึงไม่ต้องระวังเวลากินอาหาร
- อาจไม่ต้องพบทันตแพทย์บ่อย เหมือนเครื่องมือติดแน่น ถ้าจำเป็น
- รู้สึกอิสระ ไม่ต้องรู้สึกถูกผูกมัด เหมือนใช้เครื่องมือแบบติดแน่น
ข้อด้อย
- มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน
- อาจมีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วย เพราะถอดออกเองได้ หากไม่ใส่ก็ไม่ได้ผล
- ราคาแพง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่การสบฟันผิดปกติมาก
ข้อสังเกต
- เนื่องจากเครื่องมือแบบใส มักใช้กับการสบฟันที่ผิดปกติไม่มาก ดังนั้นเวลาที่ใช้จัดฟัน จึงมักสั้นกว่า โดยธรรมชาติอยู่แล้ว
เครื่องมือจัดฟันแบบไหน เหมาะกับใคร
ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ การจะเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับลักษณะการสบฟัน ผู้ใหญ่บางคน อาจชอบเครื่องมือโลหะ มัดด้วยยางสีสันสดใส ขณะที่วัยรุ่นบางคน อาจชอบเครื่องมือแบบใส ที่มองไม่ค่อยเห็นก็ได้ โดยทันตแพทย์ อาจช่วยแนะนำเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
เครื่องมือจัดฟันแบบไหนดีที่สุด
ผลลัพธ์ของการจัดฟัน ขึ้นอยู่กับระดับความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์ ในการวินิจฉัยเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม และการให้ความร่วมมือในการรักษาของตัวผู้ป่วยเอง เครื่องมือจัดฟันทั้งหลาย ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือ ที่ทันตแพทย์จะเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
ดังนั้น “เรื่องความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์” จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ มากกว่าเรื่องเครื่องมือจัดฟัน