9 ลักษณะฟันที่ควรจัดฟัน และเรื่องที่คุณอยากรู้ เกี่ยวกับการจัดฟัน

การจัดฟันคืออะไร

ทันตกรรมจัดฟัน (Orthodontics) คือการรักษาความผิดปกติของการสบฟัน การเรียงฟัน รวมไปถึงใบหน้าและขากรรไกร เพื่อให้การกัดและการบดเคี้ยวอาหารดีขึ้น ลดการสึกของฟันที่เกิดจากการสบฟันที่ไม่เหมาะสม ผลพลอยได้จากการจัดฟันคือ ฟันเรียงตัวสวยขึ้น และอาจช่วยให้ใบหน้าดูดีขึ้น

ฟันเคลื่อนได้อย่างไร

การจัดฟัน คือการเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม โดยใช้แรง ตามกฎพื้นฐานของฟิสิกส์ ซึ่งทันตแพทย์เป็นผู้ออกแบบวิธีใช้แรงดังกล่าว ผ่านเครื่องมือจัดฟันแบบต่างๆ เมื่อมีแรงกดที่ฟัน ทำให้กระดูกรอบรากฟันที่ถูกกดละลายตัว ฟันจึงเคลื่อนไปตามทิศทางนั้น ส่วนด้านตรงข้าม ร่างกายก็จะสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทน แบบค่อยเป็นค่อยไป

ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน

การจัดฟัน เป็นสาขาวิชาหนึ่งของทันตแพทยศาสตร์ แพทย์เฉพาะทางสาขานี้คือ ทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน ซึ่งจะต้องจบปริญญาตรี ทันตแพทย์ทั่วไป 6 ปี จากนั้นต้องจบหลักสูตรจัดฟันโดยเฉพาะ 2-4 ปี ในมหาวิทยาลัย และต้องได้รับวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญจากทันตแพทยสภา ค้นหารายชื่อทันตแพทย์เฉพาะทางจัดฟัน ได้จากเว็บไซต์ของราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย

ลักษณะฟันที่ควรจัดฟัน

การจัดฟัน

1. ฟันยื่น

ฟันยื่น (Overbite) หรือที่บางคนเรียกว่าฟันเหยิน ลักษณะคือ ฟันหน้ายื่นมากเกินปกติ จนปากอูม และเสี่ยงที่ฟันจะได้รับอุบัติเหตุจากการกระแทก การจัดฟันจะช่วยลดฟันที่ยื่น ทำให้บริเวณรอบปากที่เคยอูมยุบลง ใบหน้าจึงอาจดูเปลี่ยนไปบ้างในผู้ป่วยบางคน

ฟันยื่น ก่อนจัดฟัน
ฟันยื่น ก่อนจัดฟัน
ฟันยื่น หลังจัดฟัน
ฟันยื่น หลังจัดฟัน

2. ฟันซ้อน

ฟันซ้อน (Crowding) ลักษณะคือ ฟันเรียงไม่เป็นระเบียบ ซ้อนทับกัน บริเวณฟันซ้อนมักทำความสะอาดยาก จนอาจเกิดฟันผุ มีกลิ่นปาก และเสี่ยงต่อโรคเหงือก

ฟันซ้อน ก่อนจัดฟัน
ฟันซ้อน ก่อนจัดฟัน
ฟันซ้อน หลังจัดฟัน
ฟันซ้อน หลังจัดฟัน

3. ฟันห่าง

ฟันห่าง (Spacing) ลักษณะคือ มีช่องว่างระหว่างฟัน อาจเกิดร่วมกับฟันยื่น เศษอาหารมักเข้าไปติดหรือกระทบตามซอกฟัน ทำให้เจ็บเหงือกเวลากินอาหาร อาจพูดออกเสียงบางคำไม่ชัด มีน้ำลายกระเด็นเวลาพูด

ฟันห่าง ก่อนจัดฟัน
ฟันห่าง ก่อนจัดฟัน
ฟันห่าง หลังจัดฟัน
ฟันห่าง หลังจัดฟัน

4. ฟันสบเปิด

ฟันสบเปิด (Openbite) ลักษณะคือ เมื่อกัดฟันแล้วปิดไม่สนิท เกิดเป็นช่องหรือโพรงระหว่างฟันบนและฟันล่าง ทำให้กัดอาหารไม่ขาด อาจพูดออกเสียงบางคำไม่ชัดเจน

ฟันสบเปิด ก่อนจัดฟัน
ฟันสบเปิด ก่อนจัดฟัน
ฟันสบเปิด ระหว่างจัดฟัน
ฟันสบเปิด ระหว่างจัดฟัน
ฟันสบเปิด หลังจัดฟัน
ฟันสบเปิด หลังจัดฟัน

5. ฟันสบลึก

ฟันสบลึก (Deep bite) ลักษณะคือ ฟันหน้าบนคร่อมปิดฟันหน้าล่างมากเกินไป จนมองแทบไม่เห็นฟันหน้าล่าง หากเป็นมาก ปลายฟันหน้าล่าง จะชนโคนฟันหน้าบนด้านในไปเรื่อยๆ จนทำให้โคนฟันหน้าสึก เจ็บ เสียวฟัน และสร้างความเสียหายต่อรากฟันหน้าได้

ฟันสบลึก
ฟันสบลึก ก่อนจัดฟัน
การจัดฟันเพื่อรักษาฟันสบลึก
ฟันสบลึก หลังจัดฟัน

6. ฟันสบคร่อม

ฟันสบคร่อม (Crossbite) ลักษณะคือ ฟันล่างซี่เดียวหรือหลายซี่ สบคร่อมทับฟันบน หากเป็นในเด็กควรรีบรักษา เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้หน้าเบี้ยว หรือเกิดความผิดปกติบริเวณข้อต่อขากรรไกร

จัดฟันเพื่อรักษาฟันสบคร่อม (Cross Bite)
ฟันสบคร่อม ก่อนจัดฟัน
จัดฟันเพื่อรักษาฟันสบคร่อม (Cross Bite)
ฟันสบคร่อม หลังจัดฟัน

7. ฟันหาย

ฟันหาย เพราะฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร (Embedded teeth) ไม่สามารถขึ้นเองได้ตามธรรมชาติ หากลูกหลานฟันแท้หาย ขึ้นไม่ครบ ผู้ปกครองควรพามาพบทันตแพทย์จัดฟัน เพราะการจัดฟันอาจช่วยดึงฟัน ให้งอกขึ้นมาได้ ลูกหลานของเราจะได้ไม่ต้องเป็นคนฟันหลอ ไม่ต้องใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม

จัดฟันเพื่อรักษาอาการฟันหาย ฟันไม่ขึ้น
ฟันหาย ก่อนจัดฟัน
จัดฟันเพื่อดึงฟันฝัง
ฟันหาย ระหว่างจัดฟัน เพื่อดึงฟันฝัง
จัดฟัน ดึงฟัน เพื่อรักษาอาการฟันหาย
ฟันหาย หลังจัดฟัน

8. ฟันประสบอุบัติเหตุ

หากเกิดอุบัติเหตุ จนทำให้ฟันบางซี่หายไป ในบางกรณี ทันตแพทย์จัดฟันอาจดึงฟันซี่ข้างเคียง มาปิดช่องฟันที่หายไปได้ ทำให้ไม่ต้องใส่ฟันปลอมหรือรากฟันเทียม

ฟันหายจากอุบัติเหตุ ก่อนจัดฟัน
ฟันหายจากอุบัติเหตุ ก่อนจัดฟัน
ฟันหายจากอุบัติเหตุ หลังจัดฟัน
ฟันหายจากอุบัติเหตุ หลังจัดฟัน

9. ขากรรไกรผิดปกติ

การสบฟันที่ผิดปกติบางอย่าง มีสาเหตุมาจากกระดูกขากรรไกรร่วมด้วย ทำให้คางยื่น หน้าเบี้ยว ยิ้มเห็นเหงือก การจัดฟันเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย

จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร ก่อนการรักษา
ฟันล่างยื่น เนื่องจากคางยื่น ขากรรไกรผิดปกติ ก่อนจัดฟัน
จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร ระหว่างการรักษา
ฟันล่างยื่น เนื่องจากคางยื่น ขากรรไกรผิดปกติ ระหว่างจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร
จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร หลังการรักษา
ฟันล่างยื่น เนื่องจากคางยื่น ขากรรไกรผิดปกติ หลังจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร

จัดฟัน การรักษาต่อเนื่องที่ยาวนาน

ขั้นตอนการจัดฟัน ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลักๆ คือ

  1. ใส่เครื่องมือจัดฟัน เพื่อเคลื่อนฟัน ให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
  2. ใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน เพื่อคงสภาพฟันที่จัดฟันไว้ให้นานที่สุด

ขั้นตอนการจัดฟัน

  1. พบทันตแพทย์ เพื่อตรวจเบื้องต้น หากพบข้อบ่งชี้ที่สมควรจะจัดฟัน ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประวัติผู้ป่วยจัดฟัน
  2. ทำประวัติผู้ป่วยจัดฟัน ได้แก่ พิมพ์ปากเพื่อสร้างแบบจำลองฟัน และเอกซเรย์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการรักษา
  3. เตรียมช่องปาก คือการรักษาโรคในช่องปาก เช่น ขูดหินปูน อุดฟัน และอื่นๆ เพื่อให้พร้อมสำหรับการจัดฟัน
  4. ติดเครื่องมือจัดฟัน ถ้าใช้เครื่องมือแบบติดแน่น หากใช้เครื่องมือแบบใส ก็รับชิ้นเครื่องมือ
  5. ปรับเครื่องมือจัดฟัน เพื่อเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม โดยทั่วไป จะนัดทุก 4-6 สัปดาห์ เป็นเวลา 2-3 ปี หรือนานกว่า จนกว่าจะจัดฟันเสร็จ
  6. เมื่อจัดฟันเสร็จ ก็จะพิมพ์ปาก เพื่อทำเครื่องมือคงสภาพฟัน
  7. ถอดเครื่องมือจัดฟัน และใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์ (Retainers) เพื่อคงสภาพฟันที่จัดไว้

อายุเท่าไหร่ควรเริ่มจัดฟัน

การจัดฟัน สามารถเริ่มได้ที่อายุประมาณ 12 ปี แต่เด็กควรได้รับการตรวจเบื้องต้น เมื่ออายุประมาณ 7-8 ปี สำหรับผู้ใหญ่อายุ 30-50 ปี ก็สามารถจัดฟันได้ หากมีสุขภาพช่องปากดีพอ

จัดฟัน ใช้เวลากี่ปี

จัดฟัน เป็นการรักษาต่อเนื่องที่ใช้เวลานาน โดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับระดับความผิดปกติของการสบฟัน ขึ้นอยู่กับระดับการตอบสนองต่อการรักษาของร่างกาย และระดับการให้ความร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วย หลังถอดเครื่องมือจัดฟันแล้ว ผู้ป่วยยังต้องใส่เครื่องมือคงสภาพฟัน ตามคำแนะนำของทันตแพทย์ เพื่อคงสภาพฟันที่จัดไว้

จัดฟัน ทำไมต้องถอนฟัน
ถอนฟันล่าง 2 ซี่ เพื่อให้เกิดช่องว่าง สำหรับเคลื่อนฟัน

จัดฟัน ถอนฟันเพื่ออะไร

การจัดฟัน เป็นการเคลื่อนฟันบนกระดูกขากรรไกร หากไม่มีช่องว่าง เพราะฟันเบียดกันแน่น ก็จะไม่สามารถเคลื่อนฟันไปไหนได้ ดังนั้นจึงต้องถอนฟัน 1-4 ซี่ เพื่อให้เกิดช่องว่างดังกล่าว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จัดฟันต้องถอนฟัน บางกรณีก็สามารถจัดฟันได้ โดยไม่ต้องถอนฟัน

เครื่องมือจัดฟันมีกี่แบบ

เครื่องมือจัดฟัน (Braces) มี 2 แบบคือ แบบติดแน่นและแบบถอดได้ แบบติดแน่นก็เช่น เครื่องมือโลหะมัดยาง เครื่องมือโลหะแบบไม่มัดยาง ส่วนเครื่องมือแบบถอดได้ก็เช่น เครื่องมือจัดฟันแบบใส เป็นต้น เครื่องมือแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน ผู้ป่วยสามารถเลือกใช้ได้ตามความต้องการ และตามคำแนะนำของทันตแพทย์

เครื่องมือจัดฟันโลหะ (Metal Braces)
เครื่องมือโลหะมัดยาง (Metal Braces) เครื่องมือจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง และราคาไม่แพง

เครื่องมือจัดฟันแบบไหนดีที่สุด

ผลลัพธ์ของการจัดฟัน ขึ้นอยู่กับระดับความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์ ในการวินิจฉัยและวางแผนการรักษา และการให้ความร่วมมือในการรักษาของตัวผู้ป่วยเอง เครื่องมือจัดฟันทั้งหลาย ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือ ที่ทันตแพทย์จะเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

ดังนั้น “เรื่องความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์” จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ มากกว่าเรื่องเครื่องมือจัดฟัน

ต้องใส่รีเทนเนอร์นานแค่ไหน

หลังถอดเครื่องมือจัดฟัน ให้ใส่รีเทนเนอร์ตลอดเวลา นานประมาณ 1-2 ปี ถอดได้เฉพาะเวลากินอาหารและแปรงฟัน เมื่อผ่าน 1-2 ปีแรกไปแล้ว ก็สามารถลดความถี่ในการใส่ได้ อาจใส่เฉพาะตอนนอน 3-5 คืนต่อสัปดาห์ โดยใส่แบบนี้ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

อยากมีฟันสวยนานแค่ไหน ก็ใส่รีเทนเนอร์แบบนี้ให้นานแค่นั้น

จัดฟัน ใส่รีเทนเนอร์ (Retainers)
เครื่องมือคงสภาพฟัน หรือรีเทนเนอร์ (Retainers) เพื่อนสนิทของคนเคยจัดฟัน

ข้อเสียของการจัดฟัน

การจัดฟัน คือการรักษาทางการแพทย์ มีผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลายอย่าง แต่การจัดฟันก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน แม้ข้อเสียส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ในมุมมองของผู้ป่วย สิ่งที่อาจเป็นข้อเสียสำคัญที่สุดก็คือ ผลการจัดฟันไม่ได้อยู่แบบถาวร ผู้ปวยจำเป็นต้องใส่รีเทนเนอร์ เพื่อคงสภาพฟันที่ได้จัดไว้

จัดฟัน เป็นการรักษาแบบองค์รวม

การจัดฟัน เป็นการรักษาแบบองค์รวม คือดูภาพรวมทั้งปาก ดูการเรียงตัวของฟัน ดูเรื่องความสวยงาม และก็ต้องดูด้วยว่า ฟันบนและฟันล่างสบกันอย่างไร สามารถบดเคี้ยวอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ไม่ใช่ดูแค่ฟันบางซี่ หรือดูแค่การเรียงตัวของฟัน อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด

อย่าลืมความจริงที่ว่า หน้าที่หลักของฟัน คือการบดเคี้ยวอาหาร ไม่ใช่มีแค่เรื่องความสวยงามเพียงอย่างเดียว