หมุดจัดฟันคืออะไร
หมุดจัดฟัน (Orthodontic Mini-screws) คืออุปกรณ์เสริมสำหรับการจัดฟัน มีลักษณะเป็นสกรูขนาดเล็ก เหมือนสกรูที่ใช้ในงานช่างทั่วไป
หมุดจัดฟัน ทำจากวัสดุที่เข้ากันได้ทางชีวภาพ กับร่างกายของมนุษย์ (Biocompatibility) จึงไม่เป็นอันตราย หมุดจัดฟันมีชื่อเรียกหลายชื่อ อาทิเช่น Mini-implants, Micro-implants, Temporary Anchorage Devices (TADs)

หมุดจัดฟันมีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องใช้หมุดจัดฟัน
ประโยชน์ของหมุดจัดฟัน ขึ้นอยู่กับระดับความรู้ความสามารถของทันตแพทย์ ในการนำไปประยุกต์ใช้งาน โดยทั่วไป หมุดจัดฟันสามารถช่วยเคลื่อนฟันบางรูปแบบ ที่ไม่สามารถทำได้ด้วยวิธีดั้งเดิม
แม้การใช้หมุดจัดฟัน จะไม่สามารถช่วยหลีกเลี่ยงการผ่าตัดและการถอนฟันในผู้ป่วยทุกคน แต่หมุดจัดฟันก็อาจช่วยเปลี่ยนการจัดฟันที่ต้องผ่าตัด ไปเป็นแค่การจัดฟันร่วมกับถอนฟัน หรือเปลี่ยนจากการจัดฟันร่วมกับถอนฟัน ไปเป็นการจัดฟันแบบไม่ต้องถอนฟัน เป็นต้น


ทุกคนต้องใช้หมุดจัดฟันหรือไม่
การติดตั้งหมุดจัดฟัน หรือ “การปักสกรู” นั้น ไม่ได้เจ็บหรือน่ากลัวอย่างที่คิด จึงไม่ต้องกังวล และไม่ใช่ทุกคนที่จัดฟันต้องใช้หมุดจัดฟัน การจะใช้หมุดจัดฟันหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะการสบฟันของผู้ป่วยแต่ละคน ขึ้นอยู่กับแผนการรักษาของทันตแพทย์ ซึ่งทันตแพทย์แต่ละคนก็คิดไม่เหมือนกัน ใช้วิธีรักษาต่างกัน


จัดฟัน แรง และการเคลื่อนที่
หลักการพื้นฐาน ของการจัดฟันก็คือ การใช้แรงกระทำต่อฟัน ผ่านเครื่องมือจัดฟันแบบต่างๆ ทำให้เกิดแรงกดรอบๆ รากฟันด้านหนึ่ง จนทำให้กระดูกและเนื้อเยื่อบริเวณนั้นอักเสบจนละลายตัว ฟันจึงเคลื่อนไปตามทิศทางนั้น ส่วนรากฟันด้านตรงข้าม ร่างกายก็จะสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อใหม่มาทดแทน

กฎข้อที่ 3 ของนิวตัน
เมื่อการจัดฟันต้องใช้แรง ก็หนีไม่พ้นสัจจธรรมข้อหนึ่ง นั่นคือกฎของฟิสิกส์ ที่ว่าด้วยกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน ข้อที่ 3 (Newton’s Third Law of Motion) ซึ่งกล่าวไว้ว่า
“ทุกแรงกิริยา (Action) ย่อมต้องมีแรงปฏิกิริยา (Reaction) ซึ่งมีขนาดเท่ากัน แต่มีทิศตรงข้ามกันเสมอ (Action = Reaction)”
เขียนเป็นสมการได้ว่า FA = -FR
กฎข้อที่ 3 ของนิวตัน กับการจัดฟัน
การเคลื่อนฟัน โดยทั่วไปจะใช้ฟันซี่ข้างเคียงเป็นหลักยึด (Anchorage) สำหรับเคลื่อนฟัน เช่นในรูปตัวอย่าง ผู้ป่วยฟันหน้ายื่น จะมีการถอนฟัน เพื่อให้เกิดช่องว่าง แล้วใช้ฟันกราม [B] เป็นหลักยึด สำหรับออกแรงเคลื่อนฟันหน้า [A] เข้ามาปิดช่องว่างดังกล่าว เพื่อให้ฟันหน้ายุบเข้ามา
แต่ปัญหาคือ หากแรงที่ใช้เคลื่อนฟันหน้า [A] กระทำกับฟันกราม [B] โดยตรง ก็สามารถเกิดผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์ นั่นคือฟันกราม [B] อาจเคลื่อนไปข้างหน้า ด้วยแรงปฏิกิริยา ตามกฎข้อที่ 3 ของนิวตัน จนเข้าไปปิดช่องว่าง ทำให้ไม่เหลือช่องว่างมากพอ สำหรับเคลื่อนฟันหน้าเข้ามา ส่งผลให้ยุบฟันหน้าไม่สำเร็จ ฟันหน้ายังยื่นอยู่ เป็นต้น

วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวคือ ต้องใช้หลักยึดที่มั่นคงกว่าฟัน ในอดีต ผู้ป่วยต้องใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า Headgear เพื่อใช้กะโหลกศีรษะด้านหลัง เป็นหลักยึดสำหรับเคลื่อนฟันหน้า ซึ่งก็แน่นอนว่า สำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่ คงไม่มีใครอยากใส่เครื่องมือที่ว่านี้
เมื่อวิทยาการก้าวหน้าขึ้น จากเครื่องมือที่ชื่อ Headgear ก็กลายเป็น “หมุดขนาดเล็ก” ปักลงไปกระดูกขากรรไกร ตามภาพ แทนที่เราจะใช้ฟันกราม [B] เป็นหลักยึด สำหรับเคลื่อนฟันหน้าตามวิธีดั้งเดิม เราก็เปลี่ยนไปใช้หมุดที่ปักลงในกระดูก ซึ่งมั่นคงกว่าแทน
