เครื่องมือจัดฟันมีกี่แบบ แต่ละแบบมี ข้อดี ข้อเสีย อย่างไร

ชนิดของเครื่องมือจัดฟัน

การจัดฟัน คือการเคลื่อนฟันไปสู่ตำแหน่งที่เหมาะสม โดยใช้แรง ตามหลักการพื้นฐานของฟิสิกส์ ซึ่งทันตแพทย์เป็นผู้ออกแบบวิธีใช้แรงดังกล่าว ผ่านเครื่องมือจัดฟันแบบต่างๆ ดังนั้นเครื่องมือจัดฟัน จึงเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญ ของการจัดฟัน

เครื่องมือจัดฟัน (Braces) แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้

  1. เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น
  2. เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

1. เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น

เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น คือเครื่องมือจัดฟันที่ติดบนผิวฟัน มีลวด ยาง เป็นส่วนประกอบ เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ที่ใช้ในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้

  1. เครื่องมือโลหะ
  2. เครื่องมือแบบไม่มัดยาง
  3. เครื่องมือสีเหมือนฟัน
  4. เครื่องมือจัดฟันด้านใน

1.1 เครื่องมือโลหะ

เครื่องมือโลหะ (Metal Braces) คือเครื่องมือจัดฟันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด พบเห็นได้มากที่สุด เครื่องมือทำจากโลหะ ติดบนผิวฟันด้านนอก และมัดเข้ากับลวดด้วยยางสีสันต่างๆ ยางเหล่านี้จะเสื่อมสภาพตามเวลา ทำให้สูญเสียแรง จึงต้องนัดปรับเครื่องมือทุก 4-6 สัปดาห์

จัดฟัน Metal Braces
เครื่องมือโลหะ เครื่องมือจัดฟันยอดนิยม

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพสูง
  • ใช้สนุกด้วยยางสีสันต่างๆ
  • มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้
  • ราคาไม่แพง

ข้อด้อย

  • มองเห็นเครื่องมือชัดเจน
  • แปรงฟันยาก
  • ต้องระวังเวลากินอาหาร
  • เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง

1.2 เครื่องมือแบบไม่มัดยาง

เครื่องมือแบบไม่มัดยาง (Self-ligating Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ สิ่งที่แตกต่างคือ เครื่องมือแบบไม่มัดยาง จะใช้บานพับขนาดเล็กยึดตัวเองเข้ากับลวด แทนการใช้ยางสี ดังนั้นจึงไม่ต้องเปลี่ยนยาง เครื่องมือมีทั้งแบบเหล็กและที่เป็นวัสดุใส

จัดฟัน Damon Braces
เครื่องมือแบบไม่มัดยาง ใช้บานพับยึดตัวเองเข้ากับลวด ด้วยความฝืดกำลังดี

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพสูง
  • ไม่สะดุดตามากนัก หากใช้แบบใส
  • ใช้เวลาปรับเครื่องมือน้อย เพราะไม่ต้องเปลี่ยนยาง
  • เพราะไม่มียางให้เสื่อมสภาพ จึงยืดการนัดปรับเครื่องมือให้นานขึ้นได้ ถ้าจำเป็น
  • มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้

ข้อด้อย

  • มองเห็นเครื่องมือชัดเจน หากใช้แบบโลหะ
  • แปรงฟันยาก
  • ต้องระวังเวลากินอาหาร
  • เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง
  • ราคาแพง

ข้อถกเถียง

  • ยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ว่า เครื่องมือแบบไม่มัดยาง ใช้แล้วจัดฟันเสร็จเร็วกว่า เจ็บน้อยกว่าเครื่องมือจัดฟันแบบอื่นจริงหรือไม่

1.3 เครื่องมือสีเหมือนฟัน

เครื่องมือสีเหมือนฟัน (Tooth-colored Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ ต่างกันที่ตัวเครื่องมือ จะทำจากวัสดุใสหรือเซรามิก และใช้ยางใสมัดเครื่องมือเข้ากับลวด เครื่องมือสีเหมือนฟันให้ความรู้สึกหรูหรา สวยงาม แต่ก็ไม่สะดุดตามาก เหมือนเครื่องมือโลหะ

จัดฟันด้วยเครื่องมือสีเหมือนฟัน Clear Braces
เครื่องมือสีเหมือนฟัน เครื่องมือที่เน้นเรื่องความสวยงามโดยเฉพาะ

ข้อดี

  • ประสิทธิภาพสูง
  • มีความหรูหรา สวยงาม
  • ไม่สะดุดตามากนัก
  • มีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วยน้อย เพราะถอดเองไม่ได้

ข้อด้อย

  • แปรงฟันยาก
  • อาจไม่ทนทานเท่าเครื่องมือโลหะ
  • อาจเปลี่ยนสีตามอาหาร เช่น ชา กาแฟ
  • ต้องระวังเวลากินอาหาร
  • เครื่องมือหลุดเสียหายได้ ถ้าผู้ป่วยไม่ระวัง
  • ราคาแพง

1.4 เครื่องมือจัดฟันด้านใน

เครื่องมือจัดฟันด้านใน (Lingual Braces) มีลักษณะคล้ายเครื่องมือโลหะ ความแตกต่างคือ เครื่องมือจะถูกติดบนผิวฟันด้านใน ดังนั้นจึงมองไม่เห็นจากภายนอก แต่เนื่องจากเครื่องมือจัดฟันชนิดนี้ มีความยุ่งยากในการใช้งาน ทั้งกับทันตแพทย์และกับผู้ป่วย อีกทั้งยังมีราคาแพง เครื่องมือจัดฟันด้านในจึงไม่ค่อยได้รับความนิยม

จัดฟันด้านใน (Lingual Braces)
เครื่องมือจัดฟันด้านใน ติดเครื่องมือบนผิวฟันด้านใน จึงมองไม่เห็นจากภายนอก

2. เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ แตกต่างจากเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น ทั้งในส่วนของรูปร่างหน้าตาและวิธีการทำงาน ด้วยความก้าวหน้าด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยในปัจจุบัน ทำให้เครื่องมือประเภทนี้มีราคาถูกลง

เครื่องมือจัดฟันแบบถอดได้ ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันคือ

  1. เครื่องมือจัดฟันแบบใส

2.1 เครื่องมือจัดฟันแบบใส

เครื่องมือจัดฟันแบบใส (Clear Aligners) ทำจากวัสดุใส รูปร่างคล้ายฟัน ถอดเข้าออกได้ เมื่อใส่แล้วจึงสังเกตไม่ค่อยเห็น เครื่องมือจัดฟันแบบใส สร้างจากแบบจำลองคอมพิวเตอร์ ผลิตขึ้นเป็นของแต่ละคนโดยเฉพาะ มีหลายชิ้นตลอดการรักษา ผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่เครื่องมือจัดฟันแบบใส วันละไม่ต่ำกว่าวันละ 20-22 ชั่วโมง เปลี่ยนชิ้นใหม่ประมาณทุก 2 สัปดาห์

จัดฟันแบบใส
เครื่องมือจัดฟันแบบใส ถอดเข้าออกได้ ใส่แล้วมองไม่ค่อยเห็น

ข้อดี

  • สังเกตไม่ค่อยเห็น
  • ถอดเข้าออกได้ จึงแปรงฟันง่าย
  • ถอดเข้าออกได้ จึงไม่ต้องระวังเวลากินอาหาร
  • อาจไม่ต้องพบทันตแพทย์บ่อย เหมือนเครื่องมือติดแน่น ถ้าจำเป็น
  • รู้สึกอิสระ ไม่ต้องรู้สึกถูกผูกมัด เหมือนใช้เครื่องมือแบบติดแน่น

ข้อด้อย

  • มีข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ จึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยทุกคน
  • อาจมีปัญหาเรื่องการให้ความร่วมมือของผู้ป่วย เพราะถอดออกเองได้ หากไม่ใส่ก็ไม่ได้ผล
  • ราคาแพง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่การสบฟันผิดปกติมาก

ข้อสังเกต

  • เนื่องจากเครื่องมือแบบใส มักใช้กับการสบฟันที่ผิดปกติไม่มาก ดังนั้นเวลาที่ใช้จัดฟัน จึงมักสั้นกว่า โดยธรรมชาติอยู่แล้ว

เครื่องมือจัดฟันแบบไหน เหมาะกับใคร

ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ การจะเลือกใช้เครื่องมือจัดฟันแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับลักษณะการสบฟัน ผู้ใหญ่บางคน อาจชอบเครื่องมือโลหะ มัดด้วยยางสีสันสดใส ขณะที่วัยรุ่นบางคน อาจชอบเครื่องมือแบบใส ที่มองไม่ค่อยเห็นก็ได้ โดยทันตแพทย์ อาจช่วยแนะนำเครื่องมือจัดฟันที่เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยแต่ละคน

เครื่องมือจัดฟันแบบไหนดีที่สุด

ผลลัพธ์ของการจัดฟัน ขึ้นอยู่กับระดับความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์ ในการวินิจฉัยเพื่อหาวิธีรักษาที่เหมาะสม และการให้ความร่วมมือในการรักษาของตัวผู้ป่วยเอง เครื่องมือจัดฟันทั้งหลาย ก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือ ที่ทันตแพทย์จะเลือกมาใช้ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

ดังนั้น “เรื่องความรู้และประสบการณ์ของทันตแพทย์” จึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ มากกว่าเรื่องเครื่องมือจัดฟัน