- แบบจำลองฟัน ฟิล์มเอกซเรย์ คือสิ่งจำเป็นในการวินิจฉัยโรคและวางแผนการรักษา ไม่มีใครมองเห็นสิ่งที่อยู่ในกระดูก โดยที่ไม่ดูฟิล์มเอกซเรย์
- เอกซเรย์ แบบพิมพ์ฟัน มีอายุการใช้งานไม่เกิน 6 เดือน เนื่องจากร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามธรรมชาติ เด็กและวัยรุ่นอาจโตอย่างรวดเร็ว หรืออาจมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้นกับกระดูก ในเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา
การทำประวัติจัดฟันคืออะไร
เคยสงสัยกันบ้างไหม การจัดฟัน ทำไมต้องพิมพ์ปาก ทำไมต้องเอกซเรย์ แค่ให้หมอตรวจๆ แล้วก็ติดเหล็กจัดฟันเลยไม่ได้หรือ คำตอบคือ การจัดฟันที่ทำตามหลักวิชาการนั้น จำเป็นต้องทำประวัติผู้ป่วยจัดฟัน โดยทั่วไป ประวัติผู้ป่วยจัดฟัน (Orthodontic Records) จะประกอบด้วย แบบพิมพ์ปาก ฟิล์มเอกซเรย์ และภาพถ่าย ประวัติผู้ป่วยจัดฟัน คือสิ่งจำเป็น เพราะเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญของทันตแพทย์ เพื่อใช้วิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนการรักษา
ประวัติจัดฟัน ประกอบด้วย 3 สิ่งต่อไปนี้
- เอกซเรย์ฟิล์มใหญ่ 2 ฟิล์ม หรือเอกซเรย์แบบอื่นๆ ที่จำเป็น
- แบบจำลองฟัน ทั้งที่เป็นแบบปูน หรือแบบดิจิตอล
- รูปถ่ายภายในช่องปากและใบหน้า
อันดับแรก ตรวจฟันเบื้องต้น
เมื่อเราสนใจจะจัดฟัน ทันตแพทย์จะสอบถามสาเหตุที่เราอยากจัดฟัน จากนั้นจึงตรวจช่องปากเบื้องต้น เพื่อดูสภาพทั่วไปของช่องปาก สุขภาพของเหงือก รูปร่างของฟัน และลักษณะการสบฟัน หากพบว่ามีข้อบ่งชี้ที่สมควรจะจัดฟัน และผู้ป่วยยินยอม ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ปากและเอกซเรย์ต่อไป
หมอเป็นคนนะ ไม่ใช่เครื่องเอกซเรย์
บางคนมักจะคาดหวังแบบเกินจริงว่า เมื่อได้รับการตรวจเบื้องต้นแล้ว หมอจะต้องวินิจฉัยได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เช่น ต้องสามารถบอกได้ว่า จะได้ถอนฟันกี่ซี่ ใช้เวลาเท่าไหร่ กี่เดือน กี่ปี แถมยังมีบางคำถาม ที่ได้ยินแล้วต้องอึ้ง เช่น หน้าจะเปลี่ยนอย่างไร คางยาวขึ้นแค่ไหน กรามจะยุบเท่าไหร่ จมูกจะโด่งขึ้นกี่มิลลิเมตร มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ที่หมอจะสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ ในแบบที่ผู้ป่วยอยากได้ยิน จากแค่การตรวจเบื้องต้นเท่านั้น
แม้เราจะมีเอกซเรย์แบบ 2D หรือ 3D แต่สิ่งที่ยังไม่มีใครบอกได้ก็คือ “ความสามารถในการตอบสนองต่อการรักษาของร่างกาย” ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้เวลาที่ใช้จัดฟันไม่เท่ากัน
จัดฟัน เราจำเป็นต้องมีข้อมูล
การที่จะสามารถวินิจฉัย การสบฟันที่ผิดปกติ ให้เป็นไปตามหลักวิชาการนั้น เราไม่สามารถทำได้ด้วยการตรวจเบื้องต้น แต่จำเป็นต้องมีประวัติผู้ป่วยจัดฟัน ซึ่งสามารถให้ข้อมูล ทั้งสิ่งที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า หรือคุณอยากให้ติดเครื่องมือจัดฟันแบบมั่วๆ ไม่ต้องทำตามหลักวิชาการ ซึ่งเราเชื่อว่าคุณไม่ต้องการหรอก

จัดฟันไม่ได้ก็มีนะ
อย่างไรก็ตาม ในบางคนที่เมื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด จากแบบจำลองฟันและฟิล์มเอกซเรย์แล้ว กลับพบว่า ไม่สามารถจัดฟันได้ สาเหตุอาจมาจาก ความผิดปกติของการสบฟัน เกิดจากขากรรไกรร่วมด้วย การจัดฟันเพียงอย่างเดียวจึงช่วยไม่ได้ ต้องผ่าตัดขากรรไกรร่วมด้วย ซึ่งเป็นการผ่าตัดใหญ่ในโรงพยาบาล ใช้ยาสลบ เหมือนการผ่าตัดอื่นๆ ซึ่งหากต้องผ่าตัดร่วมด้วย คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะไม่ทำ
ประวัติจัดฟันเป็นของเรา
ในกรณีที่จัดฟันไม่ได้ บางคนอาจคิดว่ามันเป็นการเสียเงินเปล่า แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม การทำประวัติก็เป็นสิ่งจำเป็น ถ้าเราจะจัดฟัน แต่สิ่งที่ต้องรู้ก็คือ ประวัติจัดฟันเป็นของผู้ป่วย ไม่ใช่ของคลินิก ดังนั้นถ้ายังไม่มั่นใจในแผนการรักษาของหมอคนนี้ เราก็สามารถขอประวัติไปปรึกษากับหมอคนอื่นได้ มันเป็นสิทธิของผู้ป่วย
จัดฟัน เอกซเรย์เพื่ออะไร
เอกซเรย์หรือภาพถ่ายรังสี คือภาพถ่ายที่เกิดจากการส่งรังสีเอกซเรย์ผ่านร่างกายไปชนกับเซนเซอร์ที่อยู่ตรงกันข้าม เหมือนการส่องไฟฉายผ่านร่างกาย โดยส่วนที่ทึบที่สุด เช่น กระดูก ฟัน จะเห็นเป็นสีขาว และเนื้อเยื่ออื่นๆ ของร่างกาย จะเห็นเป็นสีดำ สีเทา ลดหลั่นกันไป สีดำคือบริเวณที่มีอากาศมากที่สุด เช่น กระพุ้งแก้ม โพรงจมูก โพรงอากาศใต้โหนกแก้ม เป็นต้น
การเอกซเรย์ คือเป็นสิ่งจำเป็น ไม่มีใครมองเห็นสิ่งที่อยู่ในกระดูกด้วยตาเปล่า หรือคุณอยากให้ติดเครื่องมือจัดฟันแบบมั่วๆ ไม่ต้องทำตามหลักวิชาการ ซึ่งเราเชื่อว่าคุณไม่ต้องการหรอก
เอกซเรย์เพื่อการจัดฟัน
เอกซเรย์ในงานทันตกรรมมีหลายแบบ แต่สำหรับการจัดฟัน จะมีที่สำคัญอยู่สองแบบคือ Panoramic X-Ray และ Cephalometric X-Ray เอกซเรย์ทั้งสองแบบนี้มีความจำเป็นมาก ขาดไม่ได้ เพราะมันช่วยให้ทันตแพทย์เห็น ในสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
1. Panoramic X-Ray
เอกซเรย์พาโนรามิก (Panoramic X-Ray) หรือ OPG (Orthopantomogram) คือเอกซเรย์แบบ 2 มิติ เหมือนการคลี่ขากรรไกรออกมาเป็นแผ่น โดยเราจะเห็นขากรรไกรบน ขากรรไกรล่าง ข้อต่อขากรรไกร ฟัน รากฟันทุกซี่ ความยาวของรากฟัน และลักษณะรูปร่างของรากฟัน นอกจากนั้น ยังสามารถเห็นวัสดุอุดฟัน ฟันที่เคยรักษาราก ถ้าเรามีฟันคุด ฟันเกิน ฟันฝัง รวมไปถึงความผิดปกติอื่นๆ เช่น ถุงน้ำ หรือเนื้องอก ก็จะเห็นได้จากฟิล์มเอกซเรย์ชนิดนี้

2. Cephalometric X-Ray
เอกซเรย์เซฟฟาโรเมตริก (Cephalometric X-Ray) หรือ Ceph คือเอกซเรย์แบบ 2 มิติ ที่แสดงให้เห็นภาพกระโหลกศีรษะด้านข้าง และรูปหน้าด้านข้าง ข้อมูลสำคัญที่เราได้ก็คือ รูปร่างของขากรรไกรด้านข้าง ลักษณะการสบฟัน คาง และลักษณะของฟันหน้า ทันตแพทย์สามารถใช้ติดตามความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นก่อน ในระหว่าง และหลังการรักษา

เอกซเรย์จัดฟันแบบอื่นๆ
ในระหว่างการจัดฟัน หากเราต้องอุดฟัน ถอนฟัน รักษารากฟัน ผ่าฟันคุด ก็จะต้องมีการเอกซเรย์แบบอื่นๆ เช่น เอกซเรย์ฟิล์มเล็ก ที่ใช้สำหรับรักษารากฟัน ถอนฟัน ตรวจหาร่องรอยฟันผุ เป็นต้น
แบบจำลองฟัน
แบบจำลองฟันหรือแบบพิมพ์ฟัน (Impressions) คือแบบหล่อฟันบนและฟันล่างของเรา ขนาดเท่าของจริง แบบจำลองฟัน มีความจำเป็นมากในการวิเคราะห์ วินิจฉัย และวางแผนการรักษา ทันตแพทย์ใช้ศึกษาลักษณะการสบฟัน รูปร่างลักษณะของฟันแต่ละซี่ และใช้ดูความเปลี่ยนแปลงตลอดการรักษา
1. แบบจำลองฟันปูน
แบบจำลองฟันที่นิยมใช้กันในประเทศไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นปูนพลาสเตอร์ เพราะราคาไม่แพง เนื่องจากไม่ต้องใช้เครื่องมือ หรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อน ขั้นตอนจะเริ่มจาก การเทวัสดุพิมพ์ปากเหนียวข้น ลงในถาดพิมพ์ปาก แล้วให้เรากัดสักครู่ ซึ่งอาจต้องทนอึดอัดบ้าง เมื่อได้รอยกัดแล้วก็จะถอดออก จากนั้นจึงเทปูนพลาสเตอร์ลงไป เมื่อปูนแข็งตัวแล้วจึงแกะออก เราก็จะได้แบบจำลองฟันของผู้ป่วย

2. แบบจำลองฟันดิจิตอล
แบบจำลองฟันดิจิตอล (Digital Impressions) กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักในประเทศไทย แต่เนื่องจากตอนนี้เครื่องยังมีราคาแพง จึงยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก แต่เชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เมื่อเครื่องมีราคาถูกลง คลินิกในประเทศไทย ก็จะเริ่มใช้กันมากขึ้นอย่างแน่นอน
ข้อดีของแบบจำลองฟันดิจิตอลคือ มันไม่ต้องใช้ปูน จึงไม่เลอะเทอะ ผู้ป่วยก็ไม่ต้องอึดอัด กับขั้นตอนการพิมพ์ปากอีกต่อไป เพราะเป็นการใช้เครื่องเข้าไปเก็บภาพฟันและเหงือก แล้วนำไปสร้างแบบจำลองฟันแบบ 3 มิติในคอมพิวเตอร์ สามารถมองเห็นได้แทบจะทันที
ข้อดีอีกอย่างของแบบจำลองฟันดิจิตอลคือ เมื่อมันเป็นไฟล์ดิจิตอล จึงไม่ต้องเปลืองพื้นที่เก็บ และยังสามารถส่งไฟล์ไปที่ไหนก็ได้ในโลก หรือนำไปผลิตเครื่องมือจัดฟันแบบใส อย่างเช่น ยี่ห้ออินวิสไลน์ (Invisalign) เป็นต้น

รูปถ่ายฟันและใบหน้า
ก่อนติดเครื่องมือจัดฟัน จะมีการถ่ายรูปภายในช่องปากและใบหน้า รูปถ่ายจะทำให้เราเห็นขนาด และรูปร่างของฟันทุกซี่ ลักษณะการสบฟัน สภาพและลักษณะของเหงือก รูปร่างลักษณะของใบหน้าตรง และรูปหน้าด้านข้าง (Profile) เราสามารถใช้รูปถ่ายเหล่านี้ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลง ที่จะเกิดขึ้นก่อน ในระหว่าง และหลังการรักษา
สิ่งที่ยังไม่มีอะไรบอกได้
สิ่งแรกๆ ที่ผู้สนใจสนใจจะจัดฟัน มักถามหมอก็คือ “จัดฟัน ใช้เวลากี่ปี” ซึ่งคำตอบส่วนใหญ่ก็คือ 2-3 ปี หรือนานกว่า ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคดิจิตอล อยู่ท่ามกลางอุปกรณ์จัดฟันเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดทั้งหลาย ผู้ป่วยจึงมักคาดหวังว่า มันจะต้องมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง ที่ทำให้สามารถบอกระยะเวลาที่ใช้จัดฟันได้อย่างชัดเจนแน่นอน
แต่น่าเสียดาย ที่แม้ปัจจุบันนี้ เราจะมีแบบจำลองฟันดิจิตอล มีเครื่องเอกซเรย์ดิจิตอลที่ทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นแบบ 2D หรือ 3D แต่สิ่งที่เทคโนโลยีเหล่านี้ ยังไม่สามารถบอกได้ก็คือ “ความสามารถในการตอบสนองต่อการรักษาของร่างกาย” ซึ่งสิ่งนี้ส่งผลอย่างมาก ต่อระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา เพราะปัญหาของแต่ละคนต่างกัน ร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การตอบสนองต่อการรักษา ซี่งเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ก็ยังไม่เท่ากันอีก
ดังนั้น จึงยังไม่มีใครหรือเครื่องมืออะไร ที่จะสามารถระบุได้อย่างชัดเจนแน่นอนว่า เราจะใช้เวลาจัดฟันกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี
ไม่มีใครรู้อนาคต