จัดฟัน ทำไมต้องผ่าฟันคุด

ฟันคุดคืออะไร

ฟันคุด คือฟันที่พยายามขึ้น แต่ขึ้นไม่ได้ เพราะเอียงไปชนกับฟันซี่ข้างเคียง และมีพื้นที่กระดูกขากรรไกรไม่มากพอ ที่จะให้ฟันดังกล่าวขึ้นได้ โดยทั่วไปคือฟันกรามล่างซี่ในสุด ปกติฟันซี่นี้จะขึ้นในช่วงอายุ 16-25 ปี ซึ่งหากไม่ขึ้น ก็จะกลายเป็นฟันคุด

ฟันคุดบางซี่จมอยู่ใต้เหงือกบางส่วน บางซี่อาจมองไม่เห็นเลย เพราะจมอยู่ใต้เหงือกทั้งหมด ต้องเอกซเรย์จึงจะเห็น แต่ฟันซี่อื่นที่ไม่ใช่ฟันกรามซี่ในสุด หากขึ้นไม่ได้และไปชนกับฟันซี่อื่น เราก็เรียกฟันคุดเหมือนกัน

เอกซเรย์ ฟันคุดสองซี่
ภาพเอกซเรย์ เราจะเห็นฟันคุด ที่เป็นฟันกรามซี่สุดท้าย ชนกับฟันข้างเคียง

ฟันฝังคืออะไร

ฟันฝัง คือฟันที่ขึ้นเองไม่ได้ตามธรรมชาติ และถูกฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกร โดยที่ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใด ไปชนกับฟันซี่ข้างเคียงเหมือนฟันคุด

เอกซเรย์ ฟันฝัง
ภาพเอกซเรย์ฟันฝัง ที่ต้องผ่าออก หรืออาจจัดฟันแล้วดึงให้ฟันซี่นี้ขึ้นได้

ฟันเกินคืออะไร

ฟันเกิน คือฟันที่มีเกินขึ้นมา โดยที่ฟันซี่อื่นๆ มีครบ ฟันเกินอาจมีเพียงซี่เดียวหรือหลายซี่ก็ได้ ฟันเกินมีทั้งที่งอกขึ้นมาได้ และฝังอยู่ในกระดูกในขากรรไกรเหมือนฟันฝัง

ทำไมต้องผ่าฟันคุด

ฟันคุด ฟันเกิน และฟันฝัง อาจเป็นอันตรายต่อฟัน เหงือก กระดูกขากรรไกร และร่างกายของเรา หากมีข้อบ่งชี้ ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ผ่าฟันเหล่านี้ออก ไม่ว่าจะจัดฟันหรือไม่ก็ตาม บางคนมีฟันคุด ฟันเกิน แต่ก็สามารถอยู่ได้เรื่อยๆ โดยที่ไม่มีอาการอะไร ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่ต้องผ่าฟันเหล่านี้ออก

ต่อไปนี้คือเหตุผล ที่เราสมควรหรือจำเป็น ในการผ่าฟันคุด ฟันเกิน และฟันฝังออก ไม่ว่าจะจัดฟันหรือไม่ก็ตาม

1. ป้องกันอันตรายจากเหงือกอักเสบ

ฟันคุดที่ขึ้นตรง แต่ขึ้นได้ไม่เต็มซี่ เหงือกจึงคลุมฟันบางส่วนไว้ เมื่อมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือก แล้วทำความสะอาดไม่ดี เหงือกจะอักเสบ มีกลิ่น ปวด และบวมเป็นหนอง หากทิ้งไว้ไม่ยอมรักษา อาการอาจรุนแรง ถึงขั้นติดเชื้อลามไปยังใบหน้าและลำคอ หน้าบวม เชื้อโรคสามารถแพร่ไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีอันตรายถึงชีวิต

ฟันคุด ทำให้เหงือกอักเสบ

2. ป้องกันฟันซี่ข้างเคียงผุ

ฟันคุดที่ขึ้นไม่ตรง และไปชนกับฟันซี่หน้า ทำให้ตำแหน่งที่ชนเกิดเป็นซอกลึก มักมีเศษอาหารเข้าไปติด ทำความสะอาดยาก

เมื่อนานเข้าฟันที่โดนชนก็ผุ พอเริ่มรู้สึกปวด ฟันที่ถูกชนมักผุมาก ผุจนถึงโพรงประสาทฟัน และจำเป็นต้องรักษารากฟัน เพื่อเก็บฟันไว้ อย่างไรก็ตาม ฟันที่ผ่านการรักษาราก จะไม่แข็งแรงเท่าฟันปกติ เสี่ยงที่จะแตกหากเคี้ยวอาหารไม่ระวัง

3. ป้องกันอาการปวด

เพราะฟันคุดมีแรงผลักเพื่อที่จะงอกขึ้น แต่มันถูกกันโดยฟันซี่ข้างเคียง ทำให้มีแรงย้อนกลับ ไปกดเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง อาการปวดสามารถกระจาย จากตำแหน่งฟันคุด ไปยังบริเวณอื่นของใบหน้า เช่น ปวดเบ้าตา ปวดบริเวณหน้าหู ปวดศีรษะ เป็นต้น

ฟันคุด เกิดแรงผลัก ทำให้ปวด

4. ป้องกันรากฟันซี่ข้างเคียงละลาย

ฟันคุดที่ขึ้นไม่ตรง และไปชนกับรากฟันซี่ข้างเคียง มันสามารถชนไปเรื่อยๆ จนรากฟันซี่ข้างเคียงละลาย อาจต้องสูญเสียฟันที่นั้นไป

ฟันคุด ชนรากฟันซี่ข้างเคียง

5. ป้องกันการเกิดถุงน้ำหรือเนื้องอก

ฟันฝังและฟันเกิน ที่ไม่ได้ชนกับฟันซี่อื่น อาจดูเหมือนไม่มีอะไร แต่ถุงหุ้มฟันอาจมีการขยายตัว จนทำให้เกิดเป็นถุงน้ำหรือซีสต์ (Cyst) ซีสต์นี้สามารถขยายตัวออก และเบียดทำลายกระดูกโดยรอบ จนหายไปเรื่อยๆ

หากไม่เคยเอกซเรย์ ก็จะไม่รู้ว่ามีมันอยู่ ผู้ป่วยมักรู้ตัวเมื่อเห็นใบหน้าเอียง ปวด หรือกรามข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าซีสต์มีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดกระดูกขากรรไกรบางส่วนออกด้วย และการทำศัลยกรรมใบหน้า ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมนั้นก็เป็นเรื่องยาก

ฟันคุด ทำให้เกิดถุงน้ำ เนื้องอก

6. ป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก

การที่มีฟันคุดฝังอยู่ ทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้น บางกว่าตำแหน่งอื่น กลายเป็นจุดอ่อน เพราะกระดูกขากรรไกรและฟันคุดนั้นเป็นคนละส่วนกัน

หากเกิดอุบัติเหตุหรือโดนกระแทก กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็เสี่ยงที่จะหักง่าย เมื่อฟันคุดถูกผ่าออก ร่างกายก็จะค่อยๆ สร้างกระดูกเข้าไปทดแทน ส่วนที่เคยเป็นฟันคุด อย่างไรก็ตาม หากประเมินแล้วว่า การผ่าออกก็เสี่ยงจนเกินไป ทางเลือกสุดท้าย ที่อาจเสี่ยงน้อยที่สุด ก็คือการปล่อยฟันคุดไว้อย่างนั้น

เอกซเรย์ ฟันคุดแบบยาก
ฟันคุดซี่นี้อยู่ลึกมาก ส่งผลให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางลง