จัดฟัน ผ่าฟันคุดตอนไหน

ควรผ่าฟันคุดตอนไหน

โดยทั่วไป เราสามารถผ่าฟันคุด ผ่าฟันเกิน ภายหลังจากติดเครื่องมือจัดฟันไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องผ่าออกให้หมด ก่อนติดเครื่องมือจัดฟัน

สำหรับเด็กวัยรุ่น เนื่องจากฟันกรามล่างซี่ในสุด ซึ่งมีโอกาสกลายเป็นฟันคุด จะขึ้นในช่วงอายุ 16-25 ปี ดังนั้นเด็กวัยรุ่นมัธยมต้นบางคน ที่ฟันกรามซี่ดังกล่าวยังไม่ขึ้น อาจต้องรอดูจนถึงช่วงมัธยมปลาย หากมันกลายเป็นฟันคุด ทันตแพทย์ก็อาจแนะนำให้ผ่าออก

ผลข้างเคียงจากการผ่าฟันคุด

ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อน ของการผ่าฟันคุดมีหลายอย่าง เช่น อาการปวด บวม อักเสบบริเวณแผลผ่าตัด เหมือนการผ่าตัดเล็กโดยทั่วไป ซึ่งก็ไม่ใช่อาการร้ายแรง โดยอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง

อย่างไรก็ตาม หากมีไข้หรือติดเชื้อ หลังผ่าตัด 2-3 วัน หรืออาการปวดบวมยังไม่บรรเทา แต่กลับมีอาการเพิ่มมากยิ่งขึ้น แบบนี้ก็ควรรีบกลับไปพบทันตแพทย์ทันที เพื่อหาทางแก้ไข

เอกซเรย์ ฟันคุดแบบยาก
ฟันคุดที่อยู่ลึกมาก

อาการชา จากการผ่าฟันคุด

อีกหนึ่งผลข้างเคียงที่อาจพบได้ แต่น้อยมากๆ ก็คือ อาการชา ในบางรายที่ฟันคุดอยู่ลึกมาก จนใกล้เส้นประสาทในกระดูกขากรรไกรล่าง หลังผ่าตัด จึงอาจมีอาการชาบริเวณริมฝีปาก หรือบริเวณแผลที่ผ่าตัด เนื่องจากเส้นประสาทบริเวณนั้นถูกกระทบกระเทือน ในระหว่างการผ่าตัด

อาการชานี้จะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต้องใช้เวลา อาจอยู่หลายวัน เป็นเดือน หรือเป็นปี ขึ้นอยู่กับระดับการบาดเจ็บของเส้นประสาท ในระหว่างการผ่าตัด แต่อาการชานี้ไม่ได้ทำให้อ้าปากไม่ขึ้น ลิ้นด้าน หรือกินอาหารไม่อร่อย

ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาที่อาจเกิดขึ้น ทันตแพทย์จึงมักแนะนำ ให้ผ่าฟันคุดในช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ 18-25 ปี เนื่องจากรากฟันจะยังไม่ยาว จนไปชิดกับเส้นประสาทดังกล่าวนั่นเอง